ป้องกันลูกน้อย จากโรคร้ายที่มากับหน้าฝน (2)

หลังจากคราวก่อน ในบทความ ป้องกันลูกน้อย จากโรคร้ายที่มากับหน้าฝน (1)

ทาง Learning For Kidz (L4K) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ไปถึง 4 โรคแล้ว

ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรค RSV และโรคไข้เลือดออก

ยังมีอีก 5 โรคสำคัญที่เป็นภัยร้ายต่อน้อง ๆ ในหน้าฝน

ซึ่งในบทความนี้ จะนำเสนออีก 3 โรคก่อน

ไปติดตามต่อกันเลยครับ

 


โรคมือเท้าปาก

เป็นโรคที่เกิดการระบาดทุกปี เพราะมักเกิดขึ้นกับเด็กอนุบาลโดยตรง ทำให้โรงเรียนอนุบาลต้องประกาศหยุดเรียนเพื่อป้องกันการระบาด และเป็นข่าวดังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่มีความชื้นในอากาศเช่นนี้

สาเหตุ :: เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยเชื้อใช้ระยะเวลาในการฟักตัว 3-7 วัน ติดได้ทางสารคัดหลั่ง เช่น ละอองน้ำลายที่เกิดจากการไอ จาม น้ำมูก เสมหะ การสัมผัสแผล รวมทั้งการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่

อาการ :: อาการคล้ายโรคไข้หวัด คือ มีไข้ มีน้ำมูก แต่จะมีแผลเกิดขึ้นในปาก มีอาการเบื่ออาหาร และเมื่อผ่านไป 3-7 วัน จะเริ่มมีผื่นและตุ่มแดง ตามมือ ขาและเท้า

การรักษา :: โรคนี้ยังไม่มีวัคซีน ควรพาน้อง ๆ ไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอรักษาตามอาการและระวังไม่ให้ไปติดเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน

การป้องกัน :: หมั่นสอนให้น้อง ๆ ทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ล้างมืออย่างถูกวิธีให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากการสัมผัส หากน้อง ๆ มีอาการเข้าข่ายจะเป็นโรคมือเท้าปาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรพาน้อง ๆ ไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการ รวมทั้งแจ้งข่าวและสอบถามกับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อควบคุมการระบาดด้วย

 

โรคคออักเสบในเด็ก

โรคนี้มีอาการหลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงรุนแรงมาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงควรสังเกตอาการน้อง ๆ ให้ดี

สาเหตุ :: เกิดจากการกิน ดื่ม หรือรับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อนลงไปในลำคอ

อาการ :: มีอาการหลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่คออักเสบร่วมกับไข้หวัดแบบเจ็บคอไม่มาก แต่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม, แบบคอบวมแดง, แบบคอแดง เจ็บ มีฝ้าขาวหรือจุดหนองในลำคอ มีไข้สูงมาก ต่อมน้ำเหลืองโต, อาการโรคคอตีบ, อาการคออักเสบในเด็กเล็ก ที่มีอาการเจ็บคอมาก มีตุ่มพองใส แผลเล็ก ๆ ทั่วทั้งปาก ทั้งเพดาน กระพุ้งแก้มและมีไข้สูง

การรักษา :: ควรให้น้อง ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีอาการไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำอุ่น หรือ น้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ควรให้ดื่มน้ำเย็น ถ้ามีไข้สูงให้รับประทานยาลดไข้ ถ้ามีอาการไอให้รับประทานยาแก้ไอ แต่ถ้าน้อง ๆ มีอาการคอแดงร่วมด้วย ควรดูแลเรื่องอาหาร ให้รับประทานอาหารเหลว แต่ถ้ามีอาการฝ้าขาว คอตีบ ไปจนถึงต่อมทอมซิลอักเสบ ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อหาต้นตอของโรคและให้ยาที่เหมาะสมในการรักษา โดยเฉพาะถ้ามีอาการคอตีบ หากปล่อยทิ้งไว้จะอันตรายมาก ๆ เพราะอาจทำให้น้อง ๆ หายใจไม่ออก

การป้องกัน :: พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรพาน้อง ๆ ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และควรสอนให้ลูกน้อยดูแลความสะอาด ล้างมือให้ถูกต้องก่อนหยิบจับอาหาร ระวังการหยิบสิ่งของเข้าปาก ดูดนิ้ว อมนิ้ว เลียนิ้ว รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในลำคอ

 

โรคผิวหนังอักเสบ

ฤดูฝน เป็นฤดูกาลที่เชื้อโรคค่อนข้างแพร่กระจายไปได้ไกลกว่าฤดูอื่น ๆ

อันตรายจากเชื้อโรคที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรระวังไม่ให้เกิดกับลูกน้อย

คือ โรคผิวหนังอักเสบที่เคยจากเชื้อโรคซึ่งมากับฝน
ตั้งแต่มีอาการผืนแดง แห้ง คันเล็กน้อย จนลุกลามไปถึงอาการหนัก ๆ

ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

สาเหตุ :: เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศที่มากับฝนและละอองน้ำ เช่น ไรฝุ่น เชื้อราต่าง ๆ เชื้อโรค ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง จนถึงแพ้

อาการ :: อาการของโรคผิวหนังอักเสบ สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีผื่นแดง แห้ง คัน ที่แก้มและใบหน้า ส่วนสำหรับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป มักจะเป็นที่แขน ขา ข้อพับ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรระวัง เพราะหากมีอาการแทรกซ้อน จากการเกาจนเกิดแผล อาจติดเชื้อลุกลามที่ผิวหนังจนเข้าสู่กระแสเลือด หรืออาจทำให้เกิดเริมขึ้นมาได้

การรักษา :: พ่อ แม่และผู้ปกครองควรพาลูกไปพบหมอผิวหนังในเด็ก
การป้องกัน :: คอยรักษาความสะอาดให้น้อง ๆ อาบน้ำ ดูแลเรื่องเสื้อผ้า ที่นอนให้สะอาด ใช้น้ำยาซักผ้า ฆ่าเชื้อที่อ่อนโยนต่อผิวทารก ไม่ปล่อยให้เสื้อผ้า ที่นอนอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น เชื้อรา เชื้อโรคได้

คราวหน้า ทาง Learning For Kidz (L4K)
ยังมีโรคสำคัญที่จะนำเสนออีก 2 โรคด้วยกัน

ส่วนจะเป็นโรคอะไรบ้างนั้น

รอติดตามได้ใน ป้องกันลูกน้อย จากโรคร้ายที่มากับหน้าฝน (3) ครับ

อ้างอิง

https://www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details/บทวามแม่และเด็ก/ปกป้องลูกน้อง-จาก-4-โรคที่มากับหน้าฝน

https://th.theasianparent.com/รับมืออาการคออักเสบในเด็กให้ถูกวิธี

http://phyathai-sriracha.com/pytsweb/index.php?page=modules/knowledgepage&knowid=330